ปลูกหม่อน...ผลสด...แปรรูป กินได้ตลอดปี
นายประสิทธิ เพ็ชรสุข หัวหน้างานหม่อนไหม ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ
หม่อน เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ Moraceae สกุล Morus มีหลายชนิด (species) มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบ เขตหนาว (temperate zome) และเขตอบอุ่น (sup-tropical zome) โดยเฉพาะในแถบประเทศจีนและญี่ปุ่น และขึ้นได้ดีในเขตร้อน (tropical zome) เช่น ประเทศไทย เป็นต้น ซึ่งจัดเป็นไม้ผลในกลุ่ม deciduous fruit plant หรือประเภท hard wood ใบจะร่วงในฤดูใบไม้ร่วง และมีการพักตัวในฤดูหนาว ตาดอกเป็นชนิดตารวม (mix bud) คือมีทั้งตาใบและดอก อยู่รวมกันมีผลแบบผลรวมซึ่งเป็นผลที่เกิดจาก ตาข้างของปีนั้น (catkin) หมายความว่า จะมีช่อดอกเกิดที่ตาเหนือใบของตาข้างของกิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ ส่วนลักษณะของดอกเป็นทั้งแบบดอกที่มีเกสรตัวผู้และตัวเมียแยกกันคนละต้น (dioecious) หรือบางพันธุ์อาจเป็นดอกที่มีเกสรตัวผู้และตัวเมียอยู่ในต้นเดียวกัน (monoecious) โดยมีดอกหลายๆ ดอกอยู่ในช่อเดียวกัน ในบางครั้งต้นหม่อนที่เป็นพันธุ์เดียวกันสามารถเปลี่ยนเพศจากเพศหนึ่งไปเป็นอีกเพศได้ ส่วนการผสมเกสรในธรรมชาติอาศัยลมช่วยในการผสมเกสร
หม่อนที่แนะนำให้เกษตรกรปลูกเพื่อเก็บผลมีหลาย สายพันธุ์ ซึ่งแต่ละพันธุ์ล้วนให้ผลผลิตทั้งผลและใบที่เป็นประโยชน์สามารถสร้างรายได้แก่ผู้ปลูก ได้แก่ หม่อนผลสดพันธุ์เชียงใหม่ ซึ่งปลูกในภาคเหนือนานหลายสิบปี ขณะนี้ได้มีการปลูกกระจายทั่วไปทางภาคเหนือตอนบนและในหมู่บ้านชาวไทยภูเขาสูงของภาคเหนือ ต้นหม่อนที่มีอายุประมาณ 2 ปี หลังการปลูกจะให้ ผลผลิตผลหม่อนประมาณ 1,000 กิโลกรัม/ไร่/ปี และเมื่อต้นหม่อนมีอายุมากขึ้นจะให้ผลผลิตผลหม่อนสูงขึ้นไม่น้อยกว่า 1,000 กิโลกรัม/ไร่/ปี นอกจากนั้นจะให้ผลผลิตใบหม่อนเป็นผลพลอยได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 กิโลกรัม/ไร่/ปี หม่อนพันธุ์บุรีรัมย์ 60 เป็นพันธุ์หม่อนที่ปรับปรุงโดยใช้พันธุ์หม่อนน้อย ซึ่งเป็นพันธุ์พื้นเมืองของไทยผสมกับหม่อนพันธุ์จีนเบอร์ 44 นำเข้ามาจากต่างประเทศ ให้ผลผลิตใบหม่อนประมาณ 4,300 กิโลกรัม/ไร่/ปี และจะให้ผลผลิตหม่อนเป็นผลพลอยได้ประมาณ 500 กิโลกรัม/ไร่/ปี หม่อนพันธุ์ศรีสะเกษ 33 เป็นหม่อนลูกผสมเปิดของพันธุ์ Jing Mulberry จากประเทศจีน มีลักษณะต้นทานต่อโรคใบด่างได้ดีกว่า หม่อนพันธุ์อื่นๆ มีผลค่อนข้างใหญ่ สามารถนำผลมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ดี และให้ผลผลิตใบหม่อนประมาณปีละ 1,500 กิโลกรัม/ไร่/ปี หม่อนป่า เป็นพันธุ์หม่อนที่ยังไม่มีการศึกษาในด้านจำแนกพันธุ์ ขึ้นอยู่กระจายทั่วไปทั้งทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เจริญเติบโตได้ดีในที่มีความชื้นสูงโดยเฉพาะตามริมลำห้วยและแม่น้ำ เป็นไม้ป่าที่ยืนต้นบางต้นอาจมีความสูงถึง 20 เมตร และมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้นมากกว่า 1 เมตร มีอายุมากกว่า 100 ปี มีการสลัดใบทิ้งและพักตัวในฤดูหนาว จากนั้นจะผลิตใบและดอกจะเริ่มบานประมาณต้นเดือนมกราคม พบได้ทั้งต้นที่เป็นเพศผู้และเพศเมีย ผลจะสุกในเดือนมีนาคมถึงเมษายน ลักษณะช่อดอกทั้งเพศผู้และเพศเมียมีขนาดยาวประมาณ 6 นิ้ว ผลอ่อนมีสีเขียวและเมื่อสุกเต็มที่สีผลจะเปลี่ยนเป็นสีขาวครีม กลิ่นหอมและมีรสหวาน
  หม่อนเป็นพืชที่สามารถปลูกขึ้นได้ดีในดินต่างๆ เกือบทุกชนิด ปลูกได้ทั้งพื้นที่ราบและพื้นที่ลาดชัน ในขณะที่กำลังติดดอกผลและเก็บเกี่ยวผลเป็นช่วงที่หม่อนต้องการน้ำมาก วิธีการขยายพันธุ์หม่อนผลสด 1) ใช้วิธีการปักชำลงในแปลงชำ ใช้กิ่งพันธุ์หม่อนที่มีอายุมากกว่า 6 เดือน ตัดเป็นท่อนยาว ประมาณ 15-20 เซนติเมตร นำส่วนโคนของท่อนพันธุ์ไปจุ่มในน้ำยาป้องกันเชื้อราทิ้งไว้ 10 นาที ส่วนด้านปลายของท่อนพันธุ์นำไปจุ่มในสีน้ำมันเพื่อป้องกันการระเหยของน้ำ ซึ่งจะทำให้ท่อนพันธุ์แห้งตายก่อนที่แตกยอดและออกราก 2) วิธีการ ปักชำท่อนพันธุ์หม่อนลงในถุงชำ โดยใช้ถุงเพาะชำสีดำขนาด 3 x 10 นิ้ว วัสดุเพาะชำ ใช้ดินดำ แกลบดินหรือแกลบเผา : ปุ๋ยคอก อัตราส่วน 3 : 1 คลุกเคล้าให้เข้ากันตักดินใส่ถุง อัดให้แน่นแล้วปักท่อนพันธุ์หม่อนลึกประมาณ 3 ใน 4 ส่วน แล้วรดน้ำให้ชุ่มโดยดูแลไม่ให้ถุงเพาะชำขาดน้ำ 3) วิธีการตอนกิ่ง ให้เลือกกิ่งที่มีความยาวมากกว่า 1.50 เมตร ริดใบ ที่โคนกิ่งออกประมาณ 20 เซนติเมตร ควั่นกิ่งยาวประมาณ 1 นิ้ว แล้วใช้วิธีเหมือนตอนกิ่งทั่วไปซึ่งวิธีการนี้สามารถขยายพันธุ์หม่อนได้รวดเร็วและช่วยร่นระยะเวลาในการ ปลูกหม่อนให้ได้ผลผลิตเร็วยิ่งขึ้น 4) วิธีการติดตาบนต้นตอ วิธีการนี้เป็นวิธีการที่จะสามารถขยายพันธุ์หม่อนรับประทานผลให้ได้ผลเร็วที่สุด สำหรับเกษตรที่ปลูกหม่อนพันธุ์อื่นไว้แล้ว สามารถตัดแต่งกิ่งต้นหม่อนเดิมให้เหลือกิ่ง ไว้เพียง 1 กิ่ง สูง มากกว่า 1.50 เมตร ปักหลักไม้ไผ่ แล้วมัด กิ่งหม่อนติดกับไม้ไผ่ให้ตั้งตรง ทำการติดตาหม่อนโดยวิธีตัดแปะ (Chip budding) ที่ระดับความสูง 1.50 เมตร ทิ้งไว้ประมาณ 30 วัน แผลก็เริ่มสมานกัน ตัดยอดให้สูงจากบริเวณรอยติดตาประมาณ 1 นิ้ว ให้รอยเฉียงลาดลงไปทางด้านหลังของรอยตา ทิ้งไว้ประมาณ 10 วัน หม่อนผลสด ผลจะเริ่มผลิตาออก ใต้แผ่นพลาสติกให้ใช้มีดคมๆ กรีดแผ่นพลาสติกออกตามแนวยาว หลังจากกรีดแผ่นพลาสติกประมาณ 2 สัปดาห์ ตรวจดูว่าตาที่ติดไว้รอดหรือไม่หากตายไปให้ติดตาซ้ำใกล้ๆ รอยเดิม ส่วนกิ่งที่ตารอดตายให้ริดตาหม่อนพันธุ์เดิมที่แตกออกจากต้นตอออกให้หมด ส่วนตาพันธุ์เมื่อสูงเกิน 6 นิ้ว ให้เด็ดยอดทิ้งก็จะแตกยอดใหม่ออกมา 2-3 ยอด เมื่อยอดใหญ่สูงเกิน 6 นิ้ว ให้เด็ดยอดออกอีกครั้ง เพื่อให้หม่อนพันธุ์ใหม่มีจำนวนกิ่งต่อพุ่มมากในเวลาอันรวดเร็ว หลังจากที่หม่อนเริ่มแตกยอดออกมาประมาณ 10 กิ่ง ก็ปล่อยให้มีการเจริญเติบโตตามปกติ วิธีการนี้หากมีการติดตาในต้นฤดูสามารถเก็บเกี่ยวผลหม่อนได้ในปีที่มีการติดตา การดูแลรักษา หลังจากการปลูกหม่อนควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอพร้อมกำจัดวัชพืชและการใส่ปุ๋ย หลังจากปีที่ 2 เป็นต้นไปควรใส่ปุ๋ยเพื่อเพิ่มผลผลิตหม่อน ในอัตราแนะนำดังนี้ ครั้งที่ 1 ช่วงต้นฤดูฝน ใส่ปุ๋ยคอกอัตรา 1,000 – 2,000 กิโลกรัม/ไร่ ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัม/ไร่ ครั้งที่ 2 ช่วงก่อนทำการบังคับทรงพุ่ม ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 อัตรา 50 กิโลกรัม/ไร่ ครั้งที่ 3 ช่วงที่ ผลหม่อนเริ่มจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูแดง ให้ใส่ปุ๋ยเคมี เพื่อเพิ่มความหวาน สูตร 0-0-60 อัตรา 25 กิโลกรัม/ไร่
 เนื่องจากหม่อนเป็นพืชยืนต้นมีอายุยาวนานและติดอกออกผลนานหลายสิบปี ดังนั้นก่อนการปลูกหม่อนขอแนะนำให้นำตัวอย่างดินในแปลงไปตรวจวิเคราะห์หาคุณสมบัติของดิน เพื่อจะได้ทราบว่าดินที่จะใช้ปลูกหม่อนขาดธาตุอาหารใดบ้าง ในปริมาณเท่าใดหรือมีธาตุอาหารอื่น เพียงพอแล้วหรือยัง จะได้ไม่ต้องใส่เพิ่มเกินความจำเป็นเพื่อเป็นการประหยัดและลดต้นทุนการผลิต ก่อนการปลูกหม่อนให้ใส่ปูนขาวหรือปูนโดโลไมท์ตามความจำเป็น (ผลจากการวิเคราะห์ความต้องการปูนของดินรวมทั้งปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก) การให้น้ำหม่อน การเก็บหม่อนผลสด มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้น้ำในระยะหม่อนติดผล หากต้นหม่อนขาดน้ำในระยะนี้จะทำให้ผลหม่อนฝ่อก่อนที่จะสุกหรือทำให้ผลหม่อนมีขนาดเล็กกว่าปกติ ส่วนการให้น้ำในระยะอื่นๆ ให้พิจารณาตามความเหมาะสม เมื่อฝน ทิ้งช่วงอาจจะต้องให้น้ำเป็นบางครั้ง วิธีการให้น้ำมีหลายวิธี คือ 1) การให้น้ำแบบมินิสปริงเกอร์เป็นวิธีการให้น้ำแบบประหยัดทั้งแรงงานและน้ำ แต่ต้นทุนในการจัดระบบน้ำค่อนข้างสูงสามารถให้น้ำได้บ่อยตามความจำเป็น 2) การให้น้ำแบบรดโคนต้นโดยใช้เครื่องสูบน้ำสูบจากแหล่งน้ำเข้าสู่แปลงหม่อนโดยตรงรดน้ำตรงบริเวณโคนต้นให้ชุ่ม การกำจัดวัชพืช นับเป็นปัญหาสำคัญอีกอย่าง ในการปลูกหม่อนผลสดซึ่งจะส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตหม่อนอาจเป็นแหล่งของการหลบซ่อนหรือแหล่งอาหารของแมลงศัตรูหม่อน วิธีกำจัดวัชพืชในแปลงหม่อน 1) ใช้แรงงานคน จะไม่ส่ง ผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม โดยทำการดายหญ้ารอบบริเวณรอบโคนต้น รัศมี 1 เมตร ทุก 2 เดือน หรือเมื่อเห็นว่าวัชพืชเกิดขึ้นหนาแน่นพอสมควรแล้วควรดายหญ้าหรือหวดหญ้าทิ้งบริเวณทั้งหมดของแปลงอย่างน้อย ปีละ 2 ครั้ง ในครั้งแรกควรทำในช่วงฤดูฝน และครั้งที่ 2 ในช่วงหลังจากที่หมดฤดูฝนแล้ว 2) การใช้เครื่องทุ่นแรง สามารถใช้รถไถ เดินตาม หรือรถแทรกเตอร์เข้าไป ไถพรวนในช่องกลางของแถวต้นหม่อน วิธีการนี้จะช่วยประหยัดแรงงาน และช่วยทำให้สภาพของดินโปร่งและร่วนซุยมากขึ้น โดยให้ไถพรวนปีละ 3 ครั้ง คือ ต้นฤดูฝน กลางฤดูฝน และหลังจาก ฤดูฝน ส่วนบริเวณโคนต้นหม่อนต้องใช้วิธีการดายหญ้าด้วยแรงงานคน 3) การใช้สารเคมี เป็นวิธีการที่สะดวกรวดเร็ว และควบคุมวัชพืชได้เป็นระยะเวลานาน แต่เป็น วิธีการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและผู้ใช้มากที่สุด หากสามารถหลีกเลี่ยงได้ควรหลีกเลี่ยงมากที่สุด 4) การ ใช้พืชที่มีสาร ป้องกันวัชพืชคลุมดินในแปลงหม่อน โดยใช้วัชพืชคือ สาบเสือหรือกระเพราป่า ตัดมาคลุมรอบโคนต้นหม่อนในอัตรา ไม่ต่ำกว่า 1.5 กิโลกรัม(สด) ต่อ 1 ตารางเมตร สามารถควบคุมวัชพืชในแปลงหม่อนได้นาน 60 วัน เมื่อพืชเหล่านี้สะลายตัวจะเป็นปุ๋ยบำรุงดินให้กับหม่อนต่อไป 5) การใช้เศษวัสดุต่างๆ ได้แก่ เปลือกถั่ว ฟางข้าว ชานอ้อย หรือวัสดุอื่นที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น แล้วนำมาคลุมดินบริเวณโคนต้นหม่อนให้ห่างจากต้นหม่อนในรัศมีรอบโคนต้น 1 เมตร จะช่วยควบคุมไม่ให้วัชพืชเกิดขึ้นบริเวณโคนต้นหม่อนได้ การตัดแต่งกิ่งและการดูแลรักษาทรงพุ่ม ให้ตัดแต่งกิ่งแบบไม้ผล คือ ตัดเฉพาะกิ่งที่ไม่สมบูรณ์และเป็นโรคทิ้ง ส่วนกิ่งที่เกิดขึ้นภายในบริเวณทรงพุ่มให้ตัดแต่งออกให้หมดเพื่อให้ทรงพุ่มเกิดความโปร่งทำให้ไม่เป็นแหล่งสะสมของโรคและแมลง
ปัจจุบัน เกษตรกรนิยมปลูกหม่อนผลสดมากขึ้นและ ได้มีการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น น้ำหม่อนหรือมัลเบอร์รี่ที่อุดม ไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ลดการตายของเซลล์ประสาทจากพิษสุราเรื้อรัง บำรุงสายตาจากภาวะโรคเบาหวาน นอกจากนี้ยังมีหม่อนอบแห้ง แยมลูกหม่อน และ ไวน์ลูกหม่อน เป็นสินค้าที่จำหน่ายทั่วไปและเป็นที่นิยมของผู้บริโภค มากขึ้น
|