หน่วยงานภายในกรมฯ |
|
|
|
|
|
|
|
 |
 |
 |
|
|
|
 |  |  |
|
|

 |
|
 |
|
หมวดหมู่ : อื่น ๆ |
|
เรื่อง : ดาหลา พืชร่วมยางพาราเสริมรายได้ |
โดย : admin |
เข้าชม : 1332 |
อังคาร ที่ 22 เดือน มกราคม พ.ศ.2562
|

|
|
|
|
“ดาหลา” พืชร่วมยางพาราเสริมรายได้
โดย นายพยัคฆ์ ลำพรหมสุข
งานวิชาการเกษตร ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ
หากกล่าวถึงสถานการณ์ยางพาราในปัจจุบันคงถือเป็นวิกฤตแก่เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราอย่างแน่นอน เนื่องจากราคายางพาราที่ปรับตัวลงจนใกล้เคียงกับต้นทุน สร้างความเดือดร้อนให้เกษตรกรที่ปลูกยางพารา การปลูกพืชร่วมยางพาราเป็นหนึ่งทางเลือกในการเพิ่มรายได้ให้แก่เจ้าของสวนยางพารา โดยเกษตรกรจะต้องพิจารณาความเหมาะสมของชนิดพืช โดยเฉพาะการเจริญเติบโตในสภาพร่มเงา และวิธีการปลูกพืชร่วมยางพาราโดยไม่ให้มีผลกระทบที่จะสร้างความเสียหายกับการเจริญเติบโตของยางพารา
ดาหลา (Etlingera elatior (Jack)R.M. Smith) เป็นหนึ่งในพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในสภาพร่มเงา หรือมีแสงแดดรำไร เป็นดอกไม้ที่มีการปลูกมาเป็นระยะเวลานานทางภาคใต้ของไทย ซึ่งเดิมได้มีการนำหน่ออ่อนและดอกมาใช้เป็นผักประกอบอาหารบางประเภท แต่ปัจจุบันได้มีการนำมาปลูกเป็นไม้ตัดดอกมากขึ้น เนื่องจากดาหลาเป็นดอกไม้ที่มีอายุการใช้งานได้ทนทาน 6-7 วัน จึงเป็นที่นิยมใช้สำหรับนำไปตกแต่งตามสถานที่สำคัญต่างๆ เช่น โรงแรม สวนอาหาร สปา เป็นต้น ประกอบกับดอกที่มีขนาดใหญ่ สีสดใส รูปทรงแปลกตา มีทั้งดอกสีขาว สีชมพู และสีแดง ทำให้เป็นที่สนใจของผู้พบเห็นและเป็นที่ต้องการของตลาด
จากการที่งานวิชาการเกษตร ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้ทดสอบปลูกดาหลาเป็นพืชร่วมยางพารา ที่โครงการสวนยางเขาสำนัก และสวนยางทักษิณราชนิเวศน์ พบว่า ดาหลาสามารถเจริญเติบโตและออกดอกได้ดีภายใต้ร่มเงาของยางพารา เป็นไม้ดอกชนิดหนึ่งที่เหมาะสมสำหรับการแนะนำและส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเป็นพืชร่วมยางพารา เพื่อเสริมรายได้ในฤดูฝนที่มีจำนวนวันกรีดน้อย และในช่วงที่ราคายางตกต่ำ งานวิชาการเกษตรจึงรวบรวมข้อมูลวิธีการปลูกดาหลาร่วมยางพารา การดูแลรักษา รวมถึงผลตอบแทนที่เกษตรกรจะได้รับ ดังนี้
การปลูกดาหลาร่วมยางพารา
ดาหลาสามารถปลูกได้ทุกฤดู แต่ฤดูปลูกที่เหมาะสมที่สุด คือ ฤดูฝน โดยใช้ต้นพันธุ์จากการแยกหน่อให้มีลำต้นเทียม และเหง้าติดอยู่ 2-3 ต้น ปลูกในพื้นที่ว่างระหว่างแถวยางพาราได้ 3 แถว ใช้ระยะปลูก 2x2 เมตร เมื่อปลูกยางพารา 2.5x8 เมตร ให้ปลูกห่างจากแถวยางพารา 1 เมตร และเมื่อระยะปลูกยางพารา 3x7 เมตร ให้ปลูกห่างจากแถวยางพารา 1.5 เมตร ซึ่งจะได้ประมาณ 340 ต้น/พื้นที่ปลูกยาง 1 ไร่ โดยขุดหลุมให้มีขนาด 30x30x30 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยรองก้นหลุมด้วยปุ๋ย หินฟอสเฟต จำนวน 100 กรัม/หลุม แล้วจึงนำหน่อลงปลูก ซึ่งวิธีการปลูกก็เหมือนกับการปลูกดอกไม้โดยทั่วไป นอกจากนี้ดาหลายังสามรถปลูกด้วยวิธีการเพาะเมล็ด โดยการนำเมล็ดมาล้างให้สะอาด ผึ่งลมให้แห้ง แล้วนำไปเพาะในกระบะทรายหรือขี้เถ้าแกลบ เมื่อเห็นต้นดาหลามีใบได้ 3-4 ใบ ให้นำลงชำถุงอีกครั้ง ดินที่ใช้เพาะ ควรใช้หน้าดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง ชำนานประมาณ 3 เดือน จึงนำลงปลูกแปลงได้ การปลูกด้วยวิธีนี้ทำได้ง่าย และทำได้ทีละมากๆ แต่มีโอกาสกลายพันธุ์สูงและให้สีดอกแตกต่างกันไป
การปฏิบัติดูแลรักษา
การใส่ปุ๋ย จะใส่ปุ๋ยดาหลาประมาณ 2-3 เดือน/ครั้ง ซึ่งจะใช้ปุ๋ยสูตร 16-16-16 ในอัตรา 96 กิโลกรัม/ไร่/ปี และให้ปุ๋ยคอกในอัตรา 15 กิโลกรัม/ต้น/ปี นอกจากนี้อาจใช้อินทรียวัตถุที่ผุพังแล้ว เช่น ใบไม้ต่างๆ ลำต้นแก่ของดาหลา หรือนำวัชพืชมาเป็นปุ๋ย
การให้น้ำ ดาหลาเป็นพืชที่ต้องการน้ำในปริมาณที่มากพอสมควร โดยเฉพาะในระยะเริ่มแรกของการปลูก ควรรดน้ำให้ชุ่มวันละ 1 ครั้ง เมื่อต้นดาหลาตั้งตัวได้แล้ว อาจเว้นระยะห่างของการให้น้ำจากวันละครั้งออกไปเป็นประมาณ 2-3 วัน/ครั้ง แต่ต้องคำนึงถึงสภาพอากาศ ถ้าเป็น ฤดูร้อนควรเพิ่มการให้น้ำมากขึ้น โดยใช้ระบบการให้น้ำแบบพ่นฝอย (Springkler)
การป้องกันกำจัดวัชพืช ดาหลาเป็นพืชที่มีการเจริญเติบโตเร็ว แตกหน่อได้มาก ทำให้กอแน่นใบบังแสงซึ่งกันและกัน การกำจัดวัชพืชจะต้องกระทำมากในช่วงแรกของการปลูก เมื่อต้นดาหลาโตมากๆ จะทำให้แสงที่ส่องผ่านมากระทบพื้นดินน้อย วัชพืชไม่สามารถเจริญงอกงามได้ จึงไม่ต้องกำจัดวัชพืชมาก
โรคและแมลงที่สำคัญ ยังคงไม่พบโรคที่เป็นปัญหาสำคัญกับดาหลา แต่มีแมลงสำคัญ ดังนี้
-
หนอนเจาะลำต้น ลักษณะการทำลาย เข้าทำลายต้นที่แก่ โดยจะเจาะบริเวณลำต้น ทำให้
ต้นดาหลาหยุดชะงักการเจริญเติบโต และไม่สามารถออกดอกได้ ป้องกันกำจัดโดยใช้ฟูราดาน 3% โรยบริเวณรอบๆ โคนต้น
-
มดแดง ลักษณะการทำลาย เป็นกรดจากสิ่งขับถ่ายของมดแดง จะทำให้กลีบดอกเกิดรอย
ขาวเป็นจุดๆ ป้องกันกำจัดโดยเก็บรังมดแดงออกจากต้น หรืออาจใช้ยากำจัดมด
การออกดอกและให้ผลผลิต
หากเกษตรกรปลูกดาหลาด้วยวิธีแยกหน่อหลังจากปลูกได้ประมาณ 1 ปี ดาหลาจะออกดอก ซึ่งจะออกดอกและให้ผลผลิตเต็มที่เมื่ออายุ 4 ปี ส่วนการปลูกด้วยวิธีการเพาะเมล็ด แม้จะได้ต้นดาหลา ในปริมาณมาก แต่ก็มีโอกาสกลายพันธุ์สูง และให้สีดอกแตกต่างกันออกไป ทั้งยังออกดอกช้ากว่าวิธีแยกหน่อ คือ ออกดอกในปีที่ 2 และเก็บผลผลิตได้ในปีที่ 3 แต่ก็จะให้ผลผลิตสูงขึ้นทุกปี ผลผลิตของ ดาหลาที่เกษตรกรจะได้รับเมื่อใช้ระยะปลูกยางพารา 2.5x8 เมตร คือ ปริมาณดอกเฉลี่ย 6,000 ดอก/ไร่/ปี และปริมาณหน่อเฉลี่ย 400 หน่อ/ไร่/ปี หากเกษตรกรใช้ระยะปลูกยางพารา 3x7 เมตร จะได้ปริมาณดอกเฉลี่ย 10,000 ดอก/ไร่/ปี และปริมาณหน่อเฉลี่ย 700 หน่อ/ไร่/ปี
การเก็บเกี่ยว
ดอกดาหลาที่มีความสมบูรณ์พร้อมที่จะเก็บเกี่ยวได้ ต้องมีอายุประมาณ 2 อาทิตย์ นับตั้งแต่เริ่มแทงหน่อ การตัดดอกดาหลาควรตัดดอกในช่วงเช้า โดยการตัดก้านดอกให้ยาวชิดโคนต้น แล้วแช่ก้านดอกลงในถังที่มีน้ำบรรจุอยู่
จากการรวบรวมข้อมูลต้นทุนการเริ่มต้นปลูกดาหลาในสวนยางพารา ประกอบด้วย ค่าเตรียมดิน เป็นเงิน 1,000 บาท/ไร่ ค่าหน่อพันธุ์ (หน่อละ 10 บาท) คิดเป็นเงิน 4,000 บาท/ไร่ ค่าปุ๋ยคอก คิดเป็นเงิน 2,000 บาท/ไร่ ค่าปุ๋ยเคมี คิดเป็นเงิน 800 บาท/ไร่ รวมต้นทุนทั้งหมดคิดเป็นเงิน 7,800 บาท/ไร่ โดยในปีต่อๆไปจะมีเฉพาะค่าปุ๋ยคอกและสารเคมีป้องกันกำจัดแมลง เฉลี่ย 3 บาท/ต้น หรือประมาณ 900 บาท/พื้นที่ปลูกยางพารา 1 ไร่
ผลตอบแทนในการปลูกดาหลาในพื้นที่ยางพารา 1 ไร่
 สำหรับผลตอบแทนในการปลูกดาหลา จะสูงหรือต่ำขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้าน เช่น แหล่งปลูก ผู้รับซื้อ และผู้ปลูกเอง โดยทั่วไปดอกดาหลาจะมีราคาตั้งแต่ 3-5 บาท/ดอก เกษตรกรจะมีรายได้ในการจำหน่ายดอกเฉลี่ย 48,000บาท/ปี ส่วนหน่อพันธุ์ จะอยู่ที่ราคาตั้งแต่ 10-20 บาท/หน่อ เกษตรกรจะมีรายได้ในการจำหน่ายหน่อพันธุ์เฉลี่ย 5,500 บาท/ปี ส่วนพันธุ์ดอกสีขาว ค่อนข้างหายาก ดังนั้นจะมีราคาสูงถึงหน่อละ 20-40 บาท เกษตรกรจะมีรายได้ในการจำหน่ายหน่อพันธุ์สีขาวเฉลี่ย 11,000 บาท/ปี และดอกพันธุ์สีขาว เฉลี่ยราคาดอกละ 10-20 บาท เกษตรกรจะมีรายได้ในการจำหน่ายดอกเฉลี่ย 80,000 บาท/ปี
 
ดังนั้น การปลูกดาหลาเป็นพืชร่วมยางพารา จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เกษตรกรสามารถใช้ที่ดินสวนยางพาราของตนมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ครัวเรือน งานวิชาการเกษตร ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จึงได้นำความรู้ดังกล่าวมาเผยแพร่เพื่อหวังให้เป็นประโยชน์แก่เกษตรกร และผู้ที่สนใจ หากมีข้อสงสัยใดๆ สามารถขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานวิชากาเกษตร ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ โทรศัพท์ 073-631033 , 073-631038
|
|
|
 |
|
 |
|
|
|
 |  |  |
|