ข่าวผู้บริหาร กรมพัฒนาที่ดิน

เป็นประธานในพิธีเปิดงานมหกรรมสินค้า "มหัศจรรย์ของดี วิถีดินเค็ม" และร่วมเสวนา เรื่อง "พลิกฟื้นผืนดินเค็ม นำชุมชนยั่งยืน ฟื้นสิ่งแวดล้อม" ณ ที่ว่าการอำเภอบ้านไผ่ อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น
   
     วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2559 นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง รองอธิบดีด้านวิชาการ เป็นประธานในพิธีเปิดงานมหกรรมสินค้า "มหัศจรรย์ของดี วิถีดินเค็ม" ซึ่งจัดขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่าง สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 กับ หน่วยงานในจังหวัดขอนแก่น พร้อมมอบบ่อน้ำตื้นติดตั้งแผงโซล่าร์เซลให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 และ เขต 3 จำนวน 25 บ่อ รวมทั้งได้มอบเงินให้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสดในการรับซื้อคืนเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสดพื้นที่ดินเค็ม โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเกษตรกรในพื้นที่ดินเค็มซึ่งพื้นที่อยู่ภายใต้โครงการปลูกไม้ยืนต้นป้องกันการแพร่กระจายดินเค็ม (เมืองเพีย) โครงการส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ดินเค็มแบบบูรณาการในพื้นที่ลุ่มน้ำย่อย และร่วมเสวนา เรื่อง "พลิกฟื้นผืนดินเค็ม นำชุมชนยั่งยืน ฟื้นสิ่งแวดล้อม" ในงานมหกรรมสินค้า "มหัศจรรย์ของดี วิถีดินเค็ม" นี้ประกอบด้วยการจัดนิทรรศการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นิทรรศการการผลิตและการจัดการพื้นที่ดินเค็มที่เหมาะสมทางการเกษตร นิทรรศการการให้คำปรึกษาด้านแหล่งเงินทุน และนิทรรศการการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการจัดหาตลาดสินค้า และช่องทางการนำสินค้าที่เกษตรกรในพื้นที่ดินเค็มที่หลากหลายได้ผลิตขึ้นเองมาจำหน่าย พร้อมทั้งรับชมการเสวนา "พลิกฟื้นผืนดินเค็ม นำชุมชนยั่งยืน ฟื้นสิ่งแวดล้อม" จากท่านรองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน, นายอำเภอบ้านไผ่, เกษตรกรตัวอย่าง และผู้แทนจากองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการดำเนินการแก้ปัญหาดินเค็มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมบูรณาการแก้ไขปัญหาดินเค็มกันอย่างต่อเนื่อง สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 กรมพัฒนาที่ดิน เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ดำเนินงานแก้ไขปัญหาดินเค็ม มีการทำโครงการพัฒนาพื้นที่ดินเค็ม เป็นโครงการที่มีการปรับปรุงพื้นที่ที่มีความเค็ม ให้เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทำการเกษตรของตนเองได้มากขึ้น และได้จัดตั้งกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำ โดยได้รับการจัดสรรขุดบ่อน้ำตื้น ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2556 จนถึงปัจจุบัน จำนวน 40 บ่อ ซึ่งมีเกษตรกรที่ได้ต่อยอดโดยการผลิตผักปลอดสารพิษ และจัดตั้งกลุ่มผลิตผักขึ้นในพื้นที่ดินเค็ม นอกจากทำให้สามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดินเค็มแล้วยังเป็นการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ ถือว่าเป็นการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ทำให้เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อการเพาะปลูกได้อย่างเต็มที่ การดำเนินงานทั้งหมดจะเน้นการปรับปรุงและพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดินตามศักยภาพของดิน เพื่อให้มีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม อีกทั้งสามารถใช้พื้นที่เพื่อการเกษตรได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน โดยส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการผลิตสู่เกษตรกร รวมถึงแผนการพัฒนาการแก้ไขปัญหาดินเค็ม เพื่อให้เหมาะสมและมีความสอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกร มีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การพัฒนาพื้นที่ดินเค็ม และจัดทำแปลงสาธิตอันได้แก่ การปลูกถั่วพร้าบนคันนาเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร การปลูกโสนอัฟริกันเป็นพืชปุ๋ยสดแล้วปลูกข้าวหอมตาม การปรับปรุงบำรุงดินเพื่อปลูกหน่อไม้ฝรั่ง การปลูกไม้ผลทนเค็ม ได้แก่ น้อยหน่า มะขามหวาน มะขามเทศ ขนุน และการใช้วัสดุปรับปรุงดินในการปรับปรุงดินเค็มต่อไป
 
     รายงาน/ภาพ : นายกฤษชภณ วัฒนานุกิจ นักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ
                          กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมพัฒนาที่ดิน