ข่าวผู้บริหาร กรมพัฒนาที่ดิน

ป้องกันโรคเปลือกยางแห้ง         

          ภูมิปัญญาหมอดินอาสาจังหวัดสตูล ชุด “ป้องกันโรคเปลือกยางแห้ง” โดยนายโฉม  คงสุวรรณ หมอดินอาสาประจำตำบลท่าเรือ อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล ได้ศึกษาการใช้ผลิตภัณฑ์กรมพัฒนาที่ดินในการจัดการสวนยางพารา นายโฉมเล่าถึงที่มาของการใช้ สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 และ สารเร่งซุปเปอร์ พด.3  ในสวนยางพาราว่า เนื่องจากที่ผ่านมาเคยใช้ฝุ่นแดงทาหน้ายาง ใช้ปุ๋ยเคมี ใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช จึงคิดว่าการที่ต้นยางได้รับแต่สารเคมีนั้นไม่น่าจะเป็นผลดีนัก อีกทั้งการฉีดสารเคมีกำจัดวัชพืช ยังทำให้รากบริเวณผิวดินอ่อนแอ ไม่สามารถดูดอาหารได้เต็มที่ ทำให้ต้นยางพาราอ่อนแอ เนื่องจากนายโฉมเป็นหมอดินอาสาของกรมพัฒนาที่ดิน จึงนำน้ำหมักชีวภาพซุปเปอร์ พด.2 มาฉีดต้นยางพารา พบว่าทำให้เปอร์เซ็นต์น้ำยางดีขึ้น แต่วิธีการฉีดค่อนข้างยุ่งยาก หากสภาพพื้นที่เป็นพื้นที่ดอน จะไม่สะดวกในการฉีด จึงคิดว่าการทาต้นยางพาราน่าจะสะดวกในการปฏิบัติมากกว่า จึงทดลองทาในสวนยางพาราที่รับจ้างกรีด และเปลี่ยนการใช้ฝุ่นแดงมาใช้หินฟอสเฟตร่วมกับน้ำหมักชีวภาพ ซุปเปอร์ พด.2 แทน และเนื่องจากการจัดการที่ไม่ดีในช่วงที่ผ่านมา ต้นยางพาราอ่อนแอเป็นโรคเปลือกแห้ง โดยเฉพาะในฤดูฝน จึงนำสารเร่งซุปเปอร์ พด.3 ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติในการควบคุมเชื้อสาเหตุโรคพืช ซึ่งประกอบด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์มา ที่สามารถควบคุมเชื้อไฟทอปธอรา (Phytophthora) เชื้อสาเหตุโรครากเน่า โคนเน่า โดยนำสารเร่งซุปเปอร์ พด.3  1 ซอง มาใช้ร่วมกับรำละเอียด 1 กิโลกรัม หินฟอสเฟต 1 กิโลกรัม  น้ำหมักชีวภาพซุปเปอร์ พด.2 (สูตรปลา) 1 ลิตร โดยใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.3 ผสมกับรำละเอียด คลุกเคล้าให้เข้ากัน ตั้งทิ้งไว้ 5 นาที แล้วนำรำละเอียดที่ผสมแล้ว 1 กำมือ ผสมกับหินฟอสเฟต และน้ำหมักชีวภาพ โดยรำผสมที่เหลือสามารถเก็บไว้ใช้ครั้งต่อไปได้  หากต้องการให้ส่วนผสมเข้มข้นขึ้น ให้ใส่หินฟอสเฟตเพิ่ม วิธีการใช้ คือ ให้ทาหน้ายางที่กรีดแล้ว  ในช่วง 2 เดือนแรกให้ทาสัปดาห์ละครั้ง หลังจากนั้นทาทุกๆ 15 วัน จะสามารถช่วยควบคุมโรคเปลือกแห้งได้ เมื่อทาหน้ายางแล้วพบว่าทำให้หน้ายางแห้งเร็วขึ้น เปลือกยางใหม่สร้างได้เร็วขึ้น เพราะน้ำหมักชีวภาพมีสารส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช และสารเร่งซุปเปอร์ พด.3 ช่วยควบคุมโรค ถ้าต้นยางพารามีส่วนที่เป็นโรคเปลือกยางแห้ง ไม่มีน้ำยาง ให้ทาบริเวณที่เป็นโรค และรอบๆ ต้น ทาประมาณ 1 ปี ต้นยางพาราจะค่อยๆ ดีขึ้น เมื่อเปิดกรีดใหม่น้ำยางจะไหล  แต่ถ้าต้นยางพาราเป็นโรคเปลือกแห้งมานาน ให้ใช้มีดขูดเปลือกยางออกให้ถึงบริเวณผิวต้นแล้วทาด้วยส่วนผสมจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.3 ทำให้ซึมเข้าผิวต้นยางพาราได้เร็วขึ้น นายโฉมกล่าวเสริมว่า ก่อนใช้ผลิตภัณฑ์กรมพัฒนาที่ดินนั้นได้ผลผลิต (ยางแผ่น) เพียง 4 กิโลกรัม (พื้นที่ 3 ไร่) แต่หลังใช้พบว่า ได้ผลผลิต 9-10 กิโลกรัม การใช้ผลิตภัณฑ์กรมพัฒนาที่ดินนอกจากสามารถเพิ่มผลผลิตแล้วยังสามารถควบคุมโรคได้ และช่วยลดต้นทุนการผลิตจากการซื้อปุ๋ยเคมี

.

โดย กลุ่มวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ดิน ร่วมกับ สถานีพัฒนาที่ดินสตูล
สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 12 จังหวัดสงขลา กรมพัฒนาที่ดิน