ข่าวผู้บริหาร กรมพัฒนาที่ดิน

เทคนิคการผลิตมะนาวนอกฤดูในวงบ่อซีเมนต์

        

เทคนิคการผลิตมะนาวนอกฤดูในวงบ่อซีเมนต์ พร้อมวิธีป้องกันกำจัดศัตรูพืช

          เทคนิคการผลิตมะนาวนอกฤดูในวงบ่อซีเมนต์ขึ้น โดยการผลิตมะนาวในวงบ่อซีเมนต์เป็นเทคโนโลยีการผลิตมะนาวนอกฤดูที่สามารถบังคับให้มะนาวออกดอกติดผลได้ 100% ผลผลิตประมาณ 250 - 1,000 ผลต่อต้น ขึ้นอยู่กับพันธุ์ อายุต้นและการดูแลรักษา

 

 

 

การปลูก 


          ขั้นตอนและวิธีการปลูก เริ่มต้นโดยการหาพันธุ์ที่ตลาดต้องการ ออกดอกติดผลง่าย ขนาดผลใหญ่ มีปริมาณนํ้ามาก มีกลิ่นหอม ทนต่อโรคและแมลง อย่างเช่น พันธุ์แป้นรำไพ ตาฮิติ หรือพิจิตร1 ต่อมาเตรียมวงบ่อซีเมนต์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 80 -100 เซนติเมตร สูง 40 – 60 เซนติเมตร ด้านล่างนำฝาซีเมนต์มารองไว้ แต่ไม่ต้องเชื่อมติดกับวงบ่อซีเมนต์ เพื่อเป็นการระบายนํ้าและป้องกันไม่ให้รากต้นมะนาวชอนไชลงดินที่อยู่นอกวงบ่อซีเมนต์ ส่วนระยะการจัดวางวงบ่อซีเมนต์ ควรวางเป็นแถวโดยมีระยะห่างด้านละ 2 – 3 เมตร เพื่อความสะดวกในการเข้าไปดูแลต้นมะนาว 
ดินที่ใช้ในการปลูกควรเป็นดินชั้นบนผสมปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก โดยใช้ดินร่วน 3 ส่วน ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 2 ส่วน แกลบดำ1 ส่วน ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วตักใส่วงบ่อซีเมนต์ให้ดินสูงพูนจากปากบ่อ 20 – 30 เซนติเมตร ขุดหลุมและรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยเคมีสูตร 15–15–15 อัตรา 20 กรัมต่อหลุม แล้วนำต้นมะนาวพันธุ์ดีที่ได้จากกิ่งตอนปักชำหรือต้นเสียบยอดที่สมบูรณ์มาปลูกตรงกลางวงบ่อซีเมนต์ ใช้ไม้ไผ่ปักเพื่อค้ำยันกิ่งและลำต้น เนื่องจากมะนาวที่ปลูกในวงบ่อซีเมนต์จะมีพื้นที่ในการกระจายราก ที่จำกัด เมื่อมะนาวติดผลดกและมีลมแรงกิ่งอาจหักหรือ โค่นล้ม อาจทำเป็นแบบนั่งร้านสี่เหลี่ยมหรือปักเป็นกระโจม สามเหลี่ยมก็ได้ จากนั้นใช้เศษพืชแห้ง อย่างเช่น ฟางข้าว หรือหญ้าแห้งคลุมโคนต้นมะนาวเพื่อรักษาความชุ่มชื้น และสุดท้ายรดนํ้าให้ชุ่ม

 

 

 

 

การดูแลรักษา 

           ในส่วนของการดูแลรักษาต้นมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ ควรรดนํ้าในช่วงเช้า 1 – 2 วันต่อครั้ง และหลังจากปลูก มะนาวได้ 1 เดือนแล้วให้ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 และ 46-0-0 ในสัดส่วน 3 : 1 อัตรา 100 – 150 กรัมต่อต้น โดยใส่เดือนละ 1 ครั้ง และควรตัดแต่งกิ่งเมื่อต้นมะนาว แตกกิ่งออกเป็นจำนวนมาก เพราะกิ่งจะไม่เป็นระเบียบ กิ่งที่ซ้อนทับกัน กิ่งที่อยู่ด้านล่างของต้น และกิ่งที่เป็นโรค ติดแมลง ทำลายกิ่งเหล่านี้ออกให้หมด เหลือกิ่งหลักไว้และ ควรกระจายกิ่งให้ทั่วต้น ไม่ควรให้หนักไปด้านใดด้านหนึ่ง หลังจากที่ปลูกระยะหนึ่งแล้วดินจะยุบตัว หลังจากเก็บเกี่ยว ผลผลิตและตัดแต่งกิ่งมะนาวในแต่ละปี ควรนำดินที่ผสม ตามอัตราส่วนที่ ใช้ ปลูกมาใส่ เพิ่มให้ พูนจากปากวงบ่อซีเมนต์ เล็กน้อย

 

บังคับออกดอก 

          เทคนิคการบังคับให้ต้นมะนาวออกดอกติดผลใน นอกฤดูนั้น ต้นมะนาวจะต้องมีอายุตั้งแต่ 8 เดือนขึ้นไป เริ่มในเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม มะนาวจะออกดอกและติดผลในฤดูกาลจำนวนมาก ควรปลิดดอก ผลอ่อน และผลแก่ออกให้หมด จากนั้นบำรุงต้นมะนาวให้สมบูรณ์ ด้วยการใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 16-20-0 หรือ 15-15-15 หรือ 16-16-16 อัตรา 100 -150 กรัมต่อต้น พอถึงปลาย เดือนสิงหาคม – ต้นเดือนกันยายน นำผ้าพลาสติกกันนํ้าฝน ขนาดกว้าง 1 – 1.5 เมตร ยาว 1.5 – 2 เมตร มาคลุม รอบวงบ่อซีเมนต์โดยมัดชายข้างหนึ่งไว้กับโคนต้นมะนาว ให้สูงจากพื้นดินปากบ่อซีเมนต์ 20 – 30 เซนติเมตร คลุมไว้นาน 15 – 20 วัน หลังจากนั้นใบมะนาวจะเริ่มเหี่ยว สลด หรือร่วงประมาณ 75 – 80% จึงนำผ้าพลาสติกนั้น ออกแล้วรดนํ้าพร้อมให้ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 อัตรา 100 -150 กรัมต่อต้นผ่านไป 2 สัปดาห์ ต้นมะนาวจะเริ่มผลิตาดอกหรือ แตกใบอ่อน ในระยะนี้ต้องระวัง ป้องกัน กำจัด โรคและ แมลงศัตรูต้นมะนาว โดยเฉพาะเพลี้ยไฟ ไรแดงและหนอน ชอนใบ ต่อมาในช่วงเดือนตุลาคม – เมษายน จะเข้าสู่ ระยะผลเจริญและพัฒนาจนถึงเก็บเกี่ยว ในระยะนี้ควร ใส่ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ เช่น 15-15-15 เป็นต้น ในอัตรา 100 – 150 กรัมต่อต้น โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง คือ ในเดือน พฤศจิกายนและเดือนมกราคม รดนํ้าอย่างสมํ่าเสมอ ให้ธาตุอาหารเสริมทางใบที่จำเป็นทุก 14 วัน พร้อมกับใช้ สารเคมี สารชีวภาพที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมโรค และแมลง อายุมะนาวที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ คือ หลังจาก ออกดอกประมาณ 4 – 6 เดือน แต่ก็จะมีความแตกต่าง กันตามสายพันธุ์ เกษตรกรจึงใช้วิธีสังเกตผลมะนาวแทน ผลมะนาวที่แก่ เก็บเกี่ยวได้ผิวของผลมะนาวจะมีลักษณะเปลือกบางใส และสีอ่อนกว่าผลที่ยังไม่แก่

 

โรค - แมลงศัตรูมะนาว

เกษตรกรผู้ปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ ควรคัดเลือก พันธุ์มะนาวที่ปลอดโรคมาปลูกเพื่อป้องกันการเกิดโรค โรคที่พบในการปลูกมะนาว ได้แก่
          1. โรคแคงเกอร์ เป็นโรค ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas campestris pv citri ซึ่งกระเซ็นมากับนํ้าและลมฝน ทำให้ส่วนที่มีเชื้ออยู่ไปติดยังส่วนอื่นๆ ของลำต้นมะนาว ลักษณะอาการ ใบเกิดจุดนูนสีนํ้าตาลเล็กๆ ล้อมรอบด้วยวงสีเหลือง พบได้ทั้ง 2 ด้านของใบ จุดจะเกิดกระจัดกระจายหรือรวมกันเป็นกว้างก็ได้ เชื้อแบคทีเรียดังกล่าวจะเข้าทำลายกิ่งและลำต้น ทำให้ผลผลิตลดลง การกำจัดทำได้โดยตัดกิ่งที่เป็นโรคออก นำไปเผาทำลายและพ่นด้วยสารเคมี เช่น สเตร็บโตมัยซิน คอปเปอร์ออกซี่คลอไรด์ หรือคอปเปอร์ไฮดรอกไซต์ เป็นต้น 
          2.โรครากเน่าและโคนเน่า เกิดจากเชื้อรา Phytopthora parasitica ซึ่งติดมากับนํ้าฝน ทำให้เกิดแผลเน่า มีนํ้าฉํ่าที่ใบและผล ทำให้ผลร่วงมาก อาการมักเกิดที่โคนต้นและระบบราก ต้นมะนาวจะมีใบเหลืองซีด ลู่ลง กิ่งบาง กิ่งเริ่มแห้งตาย บริเวณโคนต้นเน่ามีสีนํ้าตาลลุกลามที่ลำต้น เปลือกปริแตก มียางไหลในสภาพอากาศชื้น วิธีกำจัดไม่ควรปลูกมะนาวลึกเกินไป ไม่ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สดและยังไม่ย่อยสลาย ส่วนต้นที่เป็นโรครุนแรงให้ขุดออกและเผาทำลาย สารเคมีที่ใช้ในการกำจัด คือ เมทาแลคซิล หรือ ฟอสอีธิล อะลูมิเนียม

          3.โรคกรีนนิ่ง เกิดจากเชื้อที่คล้ายกับเชื้อแบคทีเรีย (BLO) โดยมีเพลี้ยไก่แจ้ส้มเป็นแมลงพาหะ แพร่กระจายได้ด้วยการติดไปกับกิ่งพันธุ์ที่นำมาปลูก ลักษณะอาการ ใบมะนาวจะด่างเป็นสีเหลืองหรือขาวใสระหว่างเส้นใน ใบเล็กลง จากนั้นใบและยอดจะแห้งตาย ผลมะนาวจะมีขนาดเล็ก นํ้าหนักน้อย ต้นจะโทรม สามารถกำจัดได้โดยการควบคุมเพลี้ยไก่แจ้ส้ม ขุดเผาทำลายต้นมะนาวที่เป็นโรคเพื่อลดการแพร่ระบาด

          4.โรคทริสเตซ่า เกิดจากเชื้อไวรัส Citrus tristeza (CTV) ที่ถ่ายทอดทางกิ่งพันธุ์ที่มีแมลงเพลี้ยอ่อนส้ม หรือเพลี้ยอ่อนชนิดอื่นๆ และถ่ายทอดโดยการติดตาต่อกิ่ง ลักษณะอาการ เส้นใบเป็นขีดโปร่งแสง เมื่อมองย้อนแสงดูจะเห็นได้ชัด ใบซีดเหลือง หงิกงอ อาการเนื้อไม้เป็นแอ่งบุ๋มรุนแรงเมื่อหลอกเปลือกไม้ออก กิ่งตาย ทำให้ลำต้นโทรมอย่างรวดเร็ว การกำจัดได้โดยวิธีการควบคุมเพลี้ยอ่อน ขุดเผาต้นมะนาวที่เป็นโรคทิ้ง

 

 

 

 

 

แมลงศัตรูพืช

          แมลงศัตรูพืชที่ควรระวังในการปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ ได้แก่ เพลี้ยไฟ เพลี้ยไก่แจ้ส้ม หนอนชอนใบ ไรแดง และเพลี้ยอ่อน ซึ่งแมลงเหล่านี้จะเข้าทำลายในระยะใบอ่อน ยอดอ่อน แมลงบางชนิดอาจทำให้ต้อนมะนาวหยุดการเจริญเติบโต จึงต้องรีบกำจัดโดยการใช้สารเคมีที่สามารถควบคุมแมลงแต่ละชนิดได้ คือ เพลี้ยไฟ ใช้อิมิดาคลอพริด-อะบาแมคติน หรือเมทโธมิล เพลี้ยไก้แจ้ส้ม และหนอนชอนใบ ใช้คาร์บาริล มาลาไธออน หรือคาร์โบซัลแฟน ไรแดง ใช้กำมะถันผง หรือไดโคฟอล เพลี้ยอ่อน ใ้ช้ไพเรททริน

 

ที่มา : น.ส.พ. กสิกร ปีที่ 84 ฉบับที่ 3 พฤษภาคม - มิถุนายน